Loading...
จากหลักฐานข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ถูกค้นพบในบริเวณหมู่บ้านอันประกอบไปด้วย ถ้วย จาน ชาม หม้อ จอก ไห ทำให้คาดการณ์ได้ว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 300 ปี ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ก็คงจะเป็นสินค้าที่บรรทุกมากับเรือสำเภาของผู้อพยพชาวจีนหรือพ่อค้าจีนสมัยก่อน และเมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกับข้อมูลปัจจุบันที่พบว่าชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ต่างก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงเป็นที่สันนิษฐานกันว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะเคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวจีนอพยพ อีกทั้งยังอาจเคยเป็นที่พักของท่านขุนชาวจีนหรืออยู่ภายใต้การปกครองของท่านขุนชาวจีนผู้นั้น ทำให้เกิดเป็นที่มาของคำว่า “บ้านขุนสมุทรจีน” นั่นเอง
นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมี “ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย” ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่รุ่นย่ายาวนานกว่าร้อยปี เชื่อกันว่าศาลเจ้าพ่อจีนแห่งนี้จะทำหน้าที่คอยปกปักษ์รักษาลูกหลานในชุมชน และดลบันดาลให้ผู้ที่แวะเวียนเข้าไปกราบไหว้สักการะ มีสุขสมหวังดังใจหมาย แม้จะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนนอกชุมชนเองก็ตาม
ไม่เพียงแต่ความเชื่อแบบจีนเท่านั้นที่สามารถพบเห็นได้ในหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะภายในชุมชนยังมีวัดไทยที่ถือเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านอีกแห่งที่สำคัญนั่นก็คือ “วัดขุนสมุทราวาส” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะวัดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นน้ำกัดเซาะแผ่นดินอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ว่าอุโบสถของวัดได้ถูกน้ำซัดจนจมน้ำทะเลไปกว่าครึ่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีร่องรอยของสายน้ำตามกำแพงของอุโบสถเก่าให้ได้เห็นเป็นเครื่องเตือนใจกันอยู่