Loading...
"ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน" ต.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างจากกทม. เพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่กลับมีสภาพภูมิประเทศที่ต่างจากเมืองหลวงราวกับหลุดไปอยู่อีกโลก (การันตีด้วยเสียงร้องอุทานของเพื่อนๆ ทีมงานหลายคนที่เพิ่งเคยมาสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรก)
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นตรงหน้าคือผืนแผ่นดินที่รายล้อมไปด้วยน้ำทะเลสลับกับต้นไม้นานาพันธุ์ที่พากันเกาะก่ายร่ายกิ่งทอดแนวยาวไปตามแนวหน้าดินที่มีลักษณะเป็นดินเลน ดูๆ ไปชุมชนแห่งนี้ก็มีลักษณะแทบไม่ได้ต่างอะไรจากเกาะกลางน้ำ ยิ่งมีไอทะเลที่พัดพาเอาความเค็มหากแต่ว่าสดชื่นมาปะทะผิวกายเป็นการทักทายผู้มาเยือนอย่างเสมอภาคอย่างนี้ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันไปกับความงามอันลึกลับของสภาพภูมิประเทศของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน
อันที่จริงสาเหตุที่ชุมชนแห่งนี้มีสัดส่วนของผืนน้ำมากกว่าผืนดินอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็เป็นเพราะน้ำทะเลได้กัดเซาะหน้าดินจนกระทั่งผืนดินที่เคยเป็นที่อยู่ที่กินของชาวบ้านลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเผชิญกันมานานนับสิบนับร้อยปี
“พี่เอ๊ะ” (แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และปราชญ์ชุมชน) ได้ช่วยขยายความถึงสาเหตุที่พื้นดินถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรวดเร็วให้พวกเราฟังว่า การขุดเจาะน้ำบาดาลในปริมาณที่มากนั้น ยิ่งทำให้พื้นใต้ดินเกิดเป็นโพรงและทำให้แผ่นดินทรุดตัวลง ส่งผลให้น้ำสามารถกัดเซาะแผ่นดินได้โดยง่ายในท้ายที่สุด
กลับมาที่สภาพแวดล้อมโดยรอบที่พวกเราชาวทีมงานสังเกตเห็นได้ทันทีอีกอย่างหนึ่งก็คือ "บ่อกุ้ง" (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วังกุ้ง") ซึ่งมีลักษณะเป็นคันดิน คั่นแบ่งผืนน้ำออกเป็นล็อคๆ ทอดข้ามด้วยสะพานที่ทำจากแผ่นไม้สองซีกตอกติดกันไว้เป็นทางเดินที่ชาวบ้านทำกันเอง สลับกับระแนงไม้ที่วางต่อกันไว้อย่างเป็นระเบียบ บ้างก็ทำจากซีเมนต์บอร์ด ยิ่งทำให้มวลเสน่ห์ของชุมชนอัดแน่นยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม มาทราบทีหลังว่าส่วนมากชาวบ้านเขาก็จะใช้วังกุ้งนี่แหละ เป็นเครื่องแบ่งอาณาบริเวณของเจ้าของที่แต่ละคน และด้วยความที่วังกุ้งของที่นี่กินพื้นที่ค่อนข้างยาว ตั้งแต่ต้นหมู่บ้านไปจนสุดหมู่บ้าน แล้วยังแบ่งออกเป็นล็อคๆ อีกหลายส่วน แถมยังมีลักษณะเป็นดินเลนที่ยากต่อการขับขี่ยวดยานพาหนะ เราก็ชักเริ่มสงสัยแล้วว่าชาวบ้านแถวนี้เขาเดินทางสัญจรกันยังไง ครั้นเราจะลองแว๊นซ์มอเตอร์ไซค์บนคันดินที่มีความกว้างไม่เกิน 2-3 เมตรก็กลัวว่าจะพาเครื่องยนต์ลงไปจับกุ้งให้เขินกันเล่นๆ... แค่คิดก็หวาดเสียวแล้ว เมื่อสังเกตดูจึงได้รู้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กหรือผู้ที่อยู่ในวัยประมาณ 40+ เขามักนิยมใช้วิธีเดินทางกันด้วยเรือ ควบคู่ไปกับการสัญจรทางบก ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือวิธีสุดคลาสสิคอย่างการเดินเท้านั่นเอง ที่จริงก็ไม่เพียงแค่เด็กๆ กับผู้สูงอายุหรอกที่เดินกันจนเป็นเรื่องปกติ หนุ่มๆ สาวๆ เองก็ยังเดินอย่างกระฉับกระเฉงให้เห็นกันทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นวิธีสัญจรท็อปฮิตของชาวบ้านที่นี่เลยทีเดียว ส่วนการปั่นจักรยานหรือการขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย กลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่ยังสายตาดีและเติบโตคุ้นเคยมากับการขี่มอเตอร์ไซค์ (เกือบจะวิบาก) แบบนี้ตั้งแต่เล็ก ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกัน
เมื่อเดินทางไปถึงจุดที่เป็นป่าชายเลน สิ่งที่เซอร์ไพรส์พวกเรา (อะเกน) นั่นก็คือการที่จู่ๆ ก็ได้เห็นสถานตากอากาศบางปู! ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านขุนสมุทรจีน เยื้องไปอีกนิดก็มองเห็นเขาสามมุก จ. ชลบุรี โอ้ว! นี่มันอะไรกันนี่!! ตบท้ายเซอร์ไพรส์แบบคอมโบ้เซ็ทอีกทีด้วย "เขาเพชรบุรี" ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก! (ตรงข้ามกับบ้านขุนสมุทรจีน) แต่อนิจจา...วันใดที่ PM2.5 มาเยือนหนาแน่น วันนั้นเราก็จะอดเห็นส่วนนี้ไปเลยแหละ
และด้วยความที่ลักษณะภูมิประเทศของบ้านขุนสมุทรจีนมีลักษณะเป็น “อ่าวกอไก่” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากทะเลอ่าวไทยตอนบน ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นที่รองรับน้ำจากหลายแห่งและเป็นแหล่งรวมสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปโดยปริยาย เนื่องจากสัตว์ต่างๆ จะได้รับสารอาหารที่ไหลมาจากแม่น้ำถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี โดยเราจะเห็นสัตว์ท้องถิ่นจำนวนมากที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันโผล่หน้าออกมาทักทายนักท่องเที่ยวอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นปูก้ามดาบ, กุ้งดีดขัน, ปลากระจัง หรือแม้กระทั่งตัวตะกวดก็ยังมีให้เห็นประปราย (แต่รายหลังนี้ค่อนข้างขี้อาย ส่วนมากจะหลบอยู่แต่ในโพรง)
แน่นอนว่าในความโชคดีของความเป็นอ่าวกอไก่ ก็ย่อมมีโชคร้ายที่มาพร้อมกับสายน้ำ นั่นก็คือ “ขยะทะเล” ที่ถูกลมทะเลพัดพามาจากประเทศเพื่อนบ้านและจังหวัดอื่นๆ ทางตอนใต้ของประเทศไทยในปริมาณหลายตัน "ผู้ใหญ่โพธิ์" เล่าให้เราฟังว่าการจะกำจัดขยะเหล่านี้ให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่ากำลังของคนในหมู่บ้านจะทำได้ เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดพาเอาขยะเข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ขยะเก่าก็ยังหาทางขนส่งออกไปไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าออกชุมชนค่อนข้างสูง อีกทั้งกำลังชาวบ้านก็ยังมีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน
และนี่คือที่มาของคำอุทานจากทีมงานตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากรถ และยังคงอุทานออกมาอีกเป็นระยะๆ เมื่อได้เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบ...